วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

หลักฐาน สยาม

พ.ศ. 1124 พบในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุย การพบจดหมายเหตุนี้พบในปี พ.ศ. 2311 เมื่อ พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงกอบกู้บ้านเมืองได้แล้ว พระองค์ทรงส่งราชทูตไปถวายเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาส์นแด่ พระจักรพรรดิ เฉิน หลง แห่งราชวงศ์ชิง จักรพรรดิ เฉิน หลง รับสั่งให้เจ้ากรมพิธีการทูต ตรวจสอบเรื่องราวของประเทศสยาม เจ้ากรมพิธีการทูตรายงานว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ตรวจดูเรื่อง เสียม หลัว กั่ว (เสียมหลอก๊ก) แล้ว เห็นมีต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้งราชวงศ์สุย (พ.ศ. 1124-1161) ราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1450) สมัยโน้นเรียกว่า ประเทศ ซื่อ ถู กั่ว (เซี้ยะโทว้ก๊ก หรือ เฉตูก๊ก) ด้วยครั้งพระเจ้าสุยทางเต้ พระเจ้าสุยเอียงเต้ ขึ้นครองราชย์สมบัติ ปีอิดทิ้ว ขุนนางสุนถังจู้ ชื่อเสียงจุ่น ได้จดความไว้ว่า ซื่อ ถั่ว กั่ว อ๋อง นับถือศาสนาพุทธ คาดคะเนว่า พระเจ้าแผ่นดินแซ่เดียวกับพระพุทธเจ้า ชาว เสียม หลั่ว กั่ว เป็นชนชาติเดียวกับชาวฮูหลำ (ฟูนัน) ประเทศนี้ตั้งอยู่ริมทะเลทางทิศใต้”

นครเซี้ยะโท้ว เรียกว่า นครดินแดง บันทึกจีนกล่าวว่าเมืองนี้มีดินเป็นสีแดง จึงเรียกว่านครดินแดง ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “แคว้นรักตมฤตติกา” มีจารึกแผ่นอิฐพบที่นครไทรบุรี หรือรัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย มีข้อความว่า “มหานาวิกะนามพุทธคุปต์ ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ภูมิรักตมฤตติกา ขอให้การเดินทางประสบความสำเร็จ”

ตำแหน่งของ นครเซี๊ยะโท้ว หรือแคว้นตมฤติกา จากบันทึกการเดินทางของ ราชทูตเสียงจุ่น บันทึกว่า
- พ.ศ. 1150 เดือนที่ 10 เรืออกจาก ท่าน่ำไฮ้ (ในกวางตุ้ง)
- เดินทางระหว่างลมดีมา 20 วัน 20 คืน ถึง ภูเขาเจียวเจี๊ยะ
- ผ่านเลยไปทางตะวันออกเฉียงใต้ หยุดทอดสมอที่ เกาะเล่งเจียปัวะป๊อกโตจิว (เกาะลิงคบรรพต) ซึ่งทางซีกตะวันตกอยู่ทางแคว้นจามปา
- จากนั้นผ่านไปตามเกาะอีก 2-3 วันต่อมา แลเห็นทิวเขาของ แคว้นหลั่งยะสิ่ว อยู่ทางทิศตะวันตก (ทิวเขาสามร้อยยอด)
- จากนั้นแล่นลงไปทางใต้ ผ่านเกาะเลยลั่งเต้า (เกาะรังไก่ รังนก อยู่หน้าตำบลปะทิว จังหวัดชุมพร)
- แล้วก็ถึงอาณาเขตแคว้นเซี๊ยะโท้ว เรือของคณะทูต ต้องถูกลากโยงไปอีกกว่า 1 เดือน จึงไปถึงนครหลวง”

จดหมายเหตุราชวงศ์เช็ง บันทึกไว้อีกว่า “เสียมหลอก๊ก มีภูเขาใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกฉียงหัวนอน (เฉียงใต้) แม่น้ำในเสียมหลอก๊กออกจากภูเขา ผ่านทิศหัวนอน (ทิศใต้) ไหลลงทะเล”

การที่เรือของราชทูตเสียงจุ่นต้องถูกลากโยงผ่านเข้าไปในกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากของแม่น้ำหลวง หรือแม่น้ำตาปีซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากพอดี เพราะราชทูตเสียงจุ่นมาในเดือน 12 ที่มีปริมาณน้ำมาก แม่น้ำหลวงไหลออกจากภูเขาหลวงผ่านทิศใต้ ไหลย้อนไปออกทะเลทางทิศเหนือ ตามบันทึกของราชทูตเสียงจุ่น ดังนั้นเรือราชทูตเสียงจุ่นต้อง...
- ถูกลากโยงผ่านทวนกระแสน้ำ เข้าทางปากพานคูหา อันเป็นช่องทางผ่านเข้าไปสู่เมืองพานพาน หรือเมืองเวียงสระเก่า อันตั้งอยู่เหนือแม่น้ำหลวงขึ้นไป
- ผ่านเขาศรีวิชัยซึ่งมีพระนารายณ์ศิลาสวมหมวกแขกประทับอยู่
- ผ่านเนินเขาท่าข้ามที่มีปราสาทประดิษฐานด้วยพระพุทธรูป
- แล้วแยกไปสู่เมืองพานพาน ซึ่งมีทั้งพระนารายณ์ เวียงสระ พระอิศวรอยู่ในพระวิหาร
- จากนั้นราชทูตเสียงจุ่นได้เดินทางไปสู่นครเซี้ยะโท้ว และนครหลวงของเซี้ยะโท้ว ต่อไป

นครเซี้ยะโท้ว นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ยอมรับกันว่า คือ เมืองตมะลี ต่อมาเรียกว่าตามพรลิงค์ บันทึกจีนเรียกว่า ตานเหมยหลิว ภิกษุอี้จิงเรียกว่าโพลิง ต่อมาเรียกว่าโฮลิง จนกระทั่งถึงนครศรีธรรมราช

นครเซี้ยะโท้ว นับว่าเป็นประเทศทั้ง 10 แห่งทะเลใต้ ที่ภิกษุอี้จิงบันทึกไว้ว่า ประเทศเหล่านี้เป็นอิสระต่อกัน แต่จะเลือกกษัตริย์จากประเทศใดประเทศหนึ่งให้เป็นประมุขและสถาปนาเป็นนครหลวง ต่อมานครหลวงประเทศทั้ง 10 แห่งทะเลใต้ ย้ายจาก นครเซี้ยะโท้วมาตั้งอยู่ที่นครไชยา เมื่อ พ.ศ. 1213 โดยพระเจ้าโหมิโต แห่งเช ลิ โฟชิ ทรงส่งราชทูตไปถวายเครื่องราชบรรณาการแด่จักรพรรดิจีน ให้ยอมรับว่า นครเช ลิ โฟชิ เป็นนครหลวงของศรีวิชัยแล้ว
-----------------------------
พ.ศ. 1182 มีจารึกของกษัตริย์ภววรมันที่ 2 ตอนหนึ่งกล่าวถึงการอุทิศที่นาถวายเป็นกัลปนาแก่วัดพุทธศาสนา ระบุชื่อผู้ถวายว่า ชื่อ โปญ สยำ
- โปญ เป็นยศตำแหน่งของเขมรสมัยก่อนนครธม
- สยำ เป็นชื่อคน จึงเชื่อว่า สยำ ในจารึก พ.ศ. 1182 นั้นก็คือ เสียม
-----------------------------
พ.ศ. 1651 จารึกปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นจารึกก่อนปราสาทนครวัด ในจารึกที่พิมายระบุชื่อข้าพระไว้จำนวนหนึ่ง ในบรรดาชื่อเหล่านั้น มีอยู่คนหนึ่งเป็นหญิง ชื่อ กน สยำ (อ่านว่า กันเสียม หรือ กันเซียม) ชาวสยามเหมือนกัน
-----------------------------
พ.ศ. 1655 ปรากฏภาพสลักนูนต่ำทีระเบียงปราสาทนครวัด สลักว่า “เนะ สยำ กุก” คู่กับนักรบชาวละโว้ มีอักษรจารึกไว้ชัดเจนว่า “พลละโว้” เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าประเทศเสียม (สยาม) ยกกองทัพมาช่วย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ร่วมกับกองทัพละโว้เพื่อไปรบกับประเทศจามปา
-----------------------------
พ.ศ. 1839 โจวต้ากวน ร่วมเดินทางกับคณะราชทูตของราชวงศ์หยวนไปอาณาจักรขอมเมืองพระนคร (นครธม) ตามหนังสือจูฟานจื้อ บันทึกอาณาเขตของอาณาจักรและอาณาจักรที่ติดต่อกัน ว่า
- ดินแดนนี้กว้าง 7,000 ลี้ (1 ลี้ เท่ากับ 555.55 เมตร)
- ทิศเหนือของประเทศนี้ใช้เวลาเดินทาง 15 วัน ถึง จ้านเฉิง (จามปา)
- ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ใช้เวลาเดินทางครึ่งเดือนถึง เสียมหลอ
- ทิศใต้ใช้เวลาเดินทาง 10 วันถึง พานหยู
- ทิศตะวันออกเป็นมหาสมุทร
ช่วงเวลาที่ โจวต้ากวน เดินทางมานครธม อาณาจักรสุโขทัยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1781 แล้ว แต่ โจวต้ากวน กลับไม่ได้บันทึกถึงประเทศสยามที่หมายถึง กรุงสุโขทัย แต่บันทึกว่า ประเทศสยามอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา นั่นก็คือ สยามศรีวิชัย หรือ สยาม ชวกะ จะให้เข้าใจว่า โจวต้ากวน ไม่รู้จัก เสียมหลอก๊ก ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะบันทึก โจวต้ากวน กล่าวอีกว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ (เจนละ) ได้ทำการรบพุ่งกับชาวเสียม หมู่บ้านเหล่านั้นจึงกลายเป็นที่โล่งเสียสิ้น” ยิ่งกว่านั้น โจวต้ากวน ยังรู้จักจนกระทั่งผู้หญิงเสียมนั้นถนัดเย็บชุนผ้า ชาวพื้นเมือง (เจนละ) ทำผ้าขาดต้องไปจ้างชาวเสียมให้ช่วยปะชุนให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น