วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2559

อาณาจักรฟูนัน (ฟูนาน) พุทธศตวรรษที่ 6-11

อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรเก่าแก่ของขอมโบราณที่สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๖ ชาวจีนเรียกว่า อาณาจักรฟูนัน โดยเพี้ยนมาจากคำว่า พนม หมายถึง ภูเขา ซึ่งมีความหมายว่า ราชาแห่งขุนเขา เนื่องจากอาณาจักรขอมที่สร้างขึ้นทางตอนใต้ของแหลมอินโดจีนนั้นตั้งอยู่บนภูเขา เป็นการสร้างเมืองขึ้นตามความเชื่อของ ศาสนาพราหมณ์ หรือ ฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย และ ไวณพนิกาย ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย จึงสร้างเมืองบนไว้ภูเขาวิหารจำลอง

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ นั้น พราหมณ์โกญธัญญะจากอินเดียเดินทางมาครองอาณาจักรขอมแห่งนี้ ได้สร้างแบบแผนของราชสำนักตามอย่างอินเดีย ซึ่งมีตำนานเล่าถึงราชวงศ์ขอมไว้ว่า ราชวงศ์ขอมนั้นเกิดจากพราหมณ์คนหนึ่งสมสู่กับนางนาค ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาค ที่ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของชนชาติขอม ราชวงศ์นี้ได้มีกษัตริย์ครองอาณาจักรฟูนันต่อมาจนถึงพ.ศ. 1100 มีพระนามกษัตริย์ที่ปรากฏชื่อ คือ พระเจ้าโกณฑิณยะชัยวรมัน และ พระเจ้ารุทรวรมัน ศิลปขอมที่เกิดขึ้นในยุคนี้เรียก ศิลปขอมแบบพนมดา สร้างระหว่าง พ.ศ. 1100 - 1150
เมืองหลวงของอาณาจักรฟูนัน เรียก นอ-กอร กก-ทะโหลก ซึ่งหมายถึง เมืองพระนครที่ตั้งอยู่บนขุนเขาและต้นไม้สูง และได้รับอิทธิพลมีความเชื่อในเรื่อง พญานาค ที่เชื่อถือว่าเป็นสัตว์มีฤทธิ์ และอาศัยอยู่ในถ้ำใหญ่ใต้น้ำหรือบนขุนเขา ผู้นับถือนิยมที่จะสักลายตามผิวหนังด้วยรูปนาคและงู และมีพิธีกรรมสำหรับบูชาพญานาคเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นการตั้งบ้านเมืองเมื่อผู้นำหรือกษัตริย์มีความเชื่อหรือนับถือเอาอะไรประชาชนก็จะยึดถือตามผู้นำ

บทวิเคราะห์จากหลักฐานที่พบ

นักประวัติศาสตร์บางคนมีความเห็นว่า ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7-9 นั้น บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนันด้วย โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณปากแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน

ดังนั้นบริเวณส่วนที่เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อราว พ.ศ. 643 - 1043 นั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรฟูนัน กล่าวคืออาณาจักรฟูนัน (FUNAN) ได้ถูกตั้งขึ้นและเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ ที่เชื่อกันว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรแห่งนี้น่าจะตั้งอยู่ที่ เมืองเปรเวงในประเทศกัมพูชา โดยมีเมืองออกแก้วหรือออกแอว ในประเทศเวียดนาม เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเล ตั้งอยู่ตรงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

คำว่า ฟูนัน นี้ น่าจะมาจากภาษาจีนที่แปลว่า ภูเขา โดยออกเสียงเป็นภาษาขอมได้ว่า พนม อาณาจักรฟูนันรับเอาวัฒนธรรมฮินดูจากอินเดียมาใช้ในสังคมและเป็นชนชาติที่เป็นบรรพบุรุษของเขมรปัจจุบัน

เรื่องนี้ศาสตราจารย์ชอง เซลิเยร์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กลับมีความเห็นว่า เมืองสำคัญของอาณาจักรฟูนัน น่าจะอยู่บริเวณ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากได้มีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยฟูนัน เช่น ลูกปัด ดินเผา และสำริด เป็นจำนวนมากที่ เมืองอู่ทอง

ในประวัติศาสตร์โบราณคดีของเขมร ได้เขียนไว้ว่า ฟูนัน คืออาณาจักรเขมรยุคแรก เริ่มเมื่อเจ้าชายจากอินเดียชื่อ โกญทัญญะ (จีนว่า โกณฑิยะ) ลงเรือมาถึงอาณาจักรฟูนันแล้ว ได้นางพญาฟูนัน (จีนว่าพระนาง ลิวเย่) เป็นพระชายา (พระชายาผู้นี้น่าจะเป็นเชื้อสายกษัตริย์ในราชวงศ์ของฟูนันมากกว่าจะเรียกเป็นชื่อว่า นางพญาฟูนัน) จึงได้ตั้งอาณาจักรฟูนันขึ้นตามชื่อของราชวงศ์กษัตริย์ฟูนันเดิม เพราะต่อมา ขุนพลฟันซีมัน ได้ขึ้นเป็นผู้ครองอาณาจักรนี้

ปลายพุทธศตวรรษที่ 8 ระหว่าง พ.ศ. 760 - 795 นั้น จดหมายเหตุของจีนราชวงศ์ฮั่นได้บันทึกไว้ว่า ราชทูตจีนชื่อ คังไถ (K’ang T’ai) และ จูยิง (Chu Ying) ได้เดินทางมายังดินแดนของอาณาจักรฟูนัน เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจีน และได้จดบันทึกไว้ความว่า

“เมืองฟูนันมีความรุ่งเรืองมาก มีแม่น้ำใหญ่ไหลมาทางตะวันตกผ่ากลางเมือง ชาวอินเดียชื่อ โกณฑิยะ ได้เดินทางโดยเรือมายึดครองดินแดนบริเวณปากแม่น้ำโขง และได้ประมุขของชาวพื้นเมือง คือ พระนางลิวเย่ (Liu-ye) เป็นชายา ต่อมาอีกหลายปี ขุนพลฟันซีมัน (Fan Shihman) ได้ขึ้นเป็นเจ้าครองนครฟูนัน ทรงขยายอาณาจักรฟูนัน ออกไปอย่างกว้างขวาง โดยสามารถยึดครองอาณาจักร ฉูตูคุณ จิวจิ และเตียนซุน ราชฑูตจีนคังไถ ยังได้กล่าวเกี่ยวกับอาณาจักรฟูนันไว้อีกว่า มีกำแพงล้อมรอบเมือง มีพระราชวังและบ้านประชาชน ประชาชนมีหน้าตาน่าเกลียด ผิวดำ ผมหยิก ไม่สวมเสื้อผ้าและเดินเท้าเปล่า อัธยาศัยใจคอง่ายๆ ไม่ลักขโมย ปลูกหว่านพืชเพียงปีหนึ่งแต่เก็บเกี่ยวไปได้ 3 ปี ชอบแกะสลักเครื่องประดับ ภาชนะกินอาหารมักทำด้วยเงิน เก็บภาษีเป็นทองคำ เงิน ไข่มุก และเครื่องหอม มีหนังสือ หอจดหมายเหตุ โดยใช้อักษรที่คล้ายอักษรของชนชาติฮู (Hu)”

จดหมายเหตุจีนที่บันทึกไว้ในสมัยสามก๊ก ได้กล่าวถึง อาณาจักรฟูนัน ไว้ว่า

พ.ศ. 786 บันทึกว่า อาณาจักรฟูนัน ได้ส่งคณะทูตมาประเทศจีน พร้อมกับส่งนักดนตรีและพืชผลในประเทศเป็นเครื่องราชบรรณาการ

พ.ศ. 1046 บันทีกว่า ฟูนันส่งราชทูตไปประเทศจีน และจักรพรรดิ์ของจีนได้มีพระราชโองการ ว่า
“พระราชาแห่งรัฐฟูนัน ทรงพระนามว่า โกณฑิยะชัยวรมัน ประทับอยู่สุดเขตโพ้นทะเล ราชวงศ์ของพระองค์ได้ทรงปกครองบรรดาประเทศโพ้นทะเลทางใต้ และได้ทรงแสดงความซื่อสัตย์สุจริตด้วยการส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายหลายครั้ง บัดนี้สมควรจะตอบแทนให้ทัดเทียมกันและให้ตำแหน่งอันมีเกียรติยศ คือตำแหน่งขุนพลแห่งภาคสันติใต้ กษัตริย์แห่งฟูนัน"

จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ฉี ต้นพุทธศตวรรษที่ 11 ได้กล่าวไว้ว่า...
ประชาชนฟูนันโหดร้ายและเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม เข้าโจมตีเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมและกดขี่ประชาชนลงเป็นทาส มีสินค้า คือ ทอง เงิน ผ้าไหม คนสำคัญใช้ผ้ายกนุ่งเป็นโสร่ง หล่อแหวนและกำไลด้วยทองคำ ใช้ภาชนะทำด้วยเงิน คนจนนุ่งผ้าฝ้ายผืนเดียว ริมทะเลมีกอไผ่ใหญ่ ใช้ใบไผ่สานเป็นหลังคาบ้านเรือนซึ่งยกพื้นสูงเหนือน้ำ ใช้เรือที่มีหัวและท้ายคล้ายปลา พระราชาเสด็จบนหลังช้าง มีการชนไก่ วิธีพิพากษาคดีใช้วิธี โยนไข่ หรือ โยนแหวนทองคำ ลงในน้ำเดือด แล้วให้คู่ความหยิบออกมา หรือ เผาโซ่ให้ร้อน แล้วให้คู่ความเดินถือไป 7 ก้าว ผู้ผิดจะมือพอง และ ผู้ถูกจะไม่บาดเจ็บ

อาณาจักรฟูนัน มีความเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ 9 แล้วเริ่มเสื่อมในพุทธศตวรรษที่ 10 ต่อมาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของ อาณาจักรเจนละ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 แล้วก็สูญหายไป

การขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองออกแก้ว (OC-EO) ตรงบริเวณปลายแหลมญวน ซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองท่าที่เกิดขึ้นในสมัยฟูนัน ได้พบโบราณวัตถุสมัยฟูนัน เช่น ถ้วยชาม เงินตรา พระพุทธรูป และ เทวรูป ส่วนใหญ่เป็นศิลปะอมราวดีจากอินเดีย สำหรับดินแดนที่อยู่ในประเทศไทยนั้น มีการสำรวจพบเงินเหรียญรูปพระอาทิตย์และศิลปวัตถุสมัยฟูนันหลายอย่าง พบที่แหล่งโบราณสถานคอกช้างดิน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และที่เมืองจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าดินแดนสุวรรณภูมินั้นเคยได้รับอิทธิพลหรืออยู่ในอาณาจักรฟูนันมาก่อน

เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 13 นั้นหลวงจีนอี้จิง ได้ออกเดินทางโดยเรือจากจีนไปสืบพระศาสนาที่อินเดีย ได้แล่นเรือผ่านบริเวณที่เคยเป็นอาณาจักรฟูนันมาก่อน และบันทึกไว้ว่า

“พราหมณ์ชาวอินเดียได้เคยอพยพมาตั้งถิ่นฐานและแต่งงานกับเจ้าหญิงชนพื้นเมืองเดิม สถาปนาอาณาจักรฟูนันขึ้น โดยรับอารยธรรมอินเดียอย่างแน่นแฟ้น เช่น การปกครองแบบเทวราชาในอาณาจักรฟูนันสมัยก่อน พระธรรมทางศาสนาพุทธได้แพร่หลายและขยายออกไป แต่ในปัจจุบัน พระราชาที่โหดร้ายได้ทำลายพระธรรมเสียสิ้น และไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลย”

เมื่อพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรเจนละ ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา มีอิทธิมากขึ้น จึงได้แผ่อำนาจมาทาง อาณาจักรฟูนัน เกิดการต่อสู้ชิงอำนาจเป็นใหญ่ในดินแดนดังกล่าว ในที่สุด อาณาจักรเจนละ ก็สามารถครอบครองดินแดนแถบนี้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น