- ลาวครอบ ราชบุตรองค์โตไปครอง เมืองเชียงของ
- ลาวช้าง ราชบุตรองค์ที่สองไปครอง เมืองยอง
- ลาวเก๊าแก้วมาเมือง ราชบุตรองค์เล็กนี้ให้ครอง เมืองหิรัญเงินยาง สืบต่อมา
ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช) เป็นต้นของราชวงศ์เมืองต่างๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ จนถึงสมัย พญามังราย ได้สร้าง เมืองเชียงราย แล้วพบว่าเจ้าเมืองต่างๆ ได้มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกัน จึงมีพระราโชบายรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
รายนามกษัตริย์ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช หรือวงศ์หิรัญนคร)
รัชกาลที่ 1 ลวจังกราช (ลาวจง)
รัชกาลที่ 2 ลาวเก๊าแก้วมาเมือง
รัชกาลที่ 3 ลาวเส้า (ลาวเสา)
รัชกาลที่ 4 ลาวตัง (ลาวพัง)
รัชกาลที่ 5 ลาวกลม (ลาวหลวง)
รัชกาลที่ 6 ลาวเหลว
รัชกาลที่ 7 ลาวกับ
รัชกาลที่ 8 ลาวคิม (ลาวกิน)
รัชกาลที่ 9 ลาวเคียง
รัชกาลที่ 10 ลาวคิว
รัชกาลที่ 11 ลาวเทิง (ลาวติง)
รัชกาลที่ 12 ลาวทึง (ลาวเติง) รัชกาลที่ 13 ลาวคน
รัชกาลที่ 14 ลาวสม
รัชกาลที่ 15 ลาวกวก (ลาวพวก)
รัชกาลที่ 16 ลาวกิว (ลาวกวิน)
รัชกาลที่ 17 ลาวจง
รัชกาลที่ 18 จอมผาเรือง
รัชกาลที่ 19 ลาวเจิง (ลาวเจื๋อง)
รัชกาลที่ 20 ลาวเงินเรือง
รัชกาลที่ 21 ลาวซิน (ลาวชื่น)
รัชกาลที่ 22 ลาวมิง
รัชกาลที่ 23 ลาวเมือง (ลาวเมิง)
รัชกาลที่ 24 ลาวเมง
พ.ศ.1334 ลาวเคียง สร้าง เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน และมีเชื้อสายครองสืบต่อมา
พ.ศ. 1534 พญาลาวด้าน กษัตริย์องค์หนึ่งของ อาณาจักรนครเงินยาง ได้ประพาสไปถึง เชียงดอยตุง บริเวณ บ้านยางเสี้ยว ทรงทอดพระเนตรเห็นต้นโพธิ์ต้นหนึ่งมีสีขาวดั่งแร่เงิน ทรงพอพระทัยและมีพระราชประสงค์จะประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงมีบัญชาให้ตังเป็นเวียงที่มีชื่อว่า เวียงยางสาย หรือ เวียงยางเงิน เหตุเพราะตั้งอยู่บน แม่น้ำแม่สาย ซึ่งเป็นพื้นที่ของ เวียงผางคำ หรือ เวียงสีขาว เดิม โดยมีเจตนาให้เป็นศูนย์กลางการปกครองบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่สาย เวียงยางสาย นี้ ปัจจุบัน คือ อำเภอแม่สาย ซึ่งยังคงปรากฏแนวคันกำแพงเมือง และ คูเมือง อย่างชัดเจน นับได้ว่าเมืองแม่สายวันนี้มีอายุถึง 1,000 ปีเศษแล้ว
พ.ศ. 1604 พญาตรีลานคำเจ้าเมืองน่าน มาโจมตีและยึด เมืองเงิน ได้ พร้อมปลงพระชนม์ พญาลาวจะกลาเรือนคำ กษัตริย์องค์หนึ่งของ อาณาจักรนครเงินยาง พญาลาวครัว โอรส พญาลาวจะกลาเรือนคำ ซึ่งขณะนั้นครองเมืองฝาง ยกกองทัพจาก เมืองฝาง มาช่วยเหลือและได้ทำศึกจนได้ชัยชนะ พญาตรีลานคำ เสียชีวิตในสนามรบ พญาลาวครัว จึงขึ้นครอง อาณาจักรนครหิรัญเงินยาง สืบต่อมา
ขุนจอมธรรม ตั้งพักอยู่ บ้านเชียงมั่น แล้วให้เสนา 3 คน คือ พันธเสนา บัณฑิตเสนา และ สามปัญญาเสนา ไปสำรวจดูตัวเมืองว่าสมควรจะตั้งเมืองเป็นชัยมงคลหรือไม่ เสนาทั้ง 3 รับสั่งแล้วก็ไปตรวจดูตัวเมืองแล้ววัดดู ปรากฎว่าตัวเมืองกว้าง 1000 วา ยาว 1200 วา มีร่องกำแพงลึก 7 วา มีประตูเมือง 8 แห่ง กำแพงเมืองทิศตะวันตกสูง ทิศตะวันออกต่ำ มีสระใหญ่อยู่ 2 แห่ง สระหนึ่งอยู่ทิศอีสาน อีกสระหนึ่งอยู่ทิศพายัพ (คือกว๊านพะเยา) เมื่อเสนาทั้ง 3 เห็นว่ามีไชยมงคลดีอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า สมควรตั้งเมืองได้ ก็นำความไปกราบทูล ขุนจอมธรรม พระองค์จึงโปรดให้บูรณะเมือง
พ.ศ. 1639 บูรณะเมืองเสร็จและสถาปนาเมือง ด้วยเหตุที่เมืองนี้ตั้งอยู่หางดอยชมภูอันเป็นเนินยาวยื่นไปจึงเรียกว่า เมืองภูกามยาว ต่อมาเพี้ยนเป็น พูเยา หรือ พะยาว ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ดังนี้
- ทิศหรดี(ตะวันตก) มีหลักหินเป็นแดน แล้ววกอ้อมไปทางทิศตะวันออกถึงห้วยหินกาด ชำวอน ตาดมาน บางสะหลีค้ำ ไทรสามอย่าง ห้วยน้ำพะวา น้ำพุงรุง น้ำยม ปากน้ำบัง ปากห้วยน้ำทอง ห้วยซาววา กิ่วหมิ่น กิ่วมอง กิ่วแก้ว จนถึงกิ่วสามท่า จึงฝังหินไว้ตรงนั้น 3 ลูกเพื่อเป็นที่จำหมายไว้ชั่วลูกหลาน จากนั้นก็ไปทางกิ่วฤาษี น้ำสายตา กิ่วช้างทุม กิ่วขาเปีย ดอยปาง ขุนแม่พาก
- ทิศเหนือไปถึงสันกลาง ปางพุดน้ำแก้ว กิ่วแก้วเขายุย แม่คาว กิ่วม่วง
- ทิศใต้ถึงกิ่วรูเหว ม่อนจิกจ้อง กิ่วขุนธรรม เขาตังบาย
- ทิศตะวันตกถึงเขาหม้อ เขาคอกงัว ทุ่งแช่ม่าน แล้วไปบรรจบหินสลักไก่ มีภูเขาหิน 7 ก้อนเส้าเป็นแดน ทิศใต้ถึงประตูผา เป็นแดน
- ทิศตะวันออกมีดอยลังกาเป็นแดน มีเมืองขึ้นหลายเมืองเช่น เมืองงาว กาวสะออบ เชียงม่อน สะปง ออยงิม สะลาว ครอบเชียงแลง เมืองลอ เมืองเทิง เมืองแช่เหียง แช่ลุง ปากบ่อง หนองขวาง เชียงแซ่ต๊อด เมืองวัง แช่หลวง แจ้ห่ม ฯลฯ (ชื่อสถานที่ต่างๆ ได้เปลี่ยนไปมาก ที่คงเรียกในปัจจุบันยังมีอยู่บ้างแต่เพี้ยนไปหน่อย)
ขุนจอมธรรม ให้ไปเรียกเจ้าเมืองทุกเมืองมาประชุมกันก็รับสั่งให้สำรวจพลเมืองทั้งหมด ปรากฎว่าเฉพาะเมืองภูกามยาวมีพลเมืองถึง 180,000 คน รวมกับหัวเมืองขึ้นแล้วมีถึง 1,323,000 คน พระองค์จึงโปรดให้เมืองพะเยาตั้งพันนาไว้สำหรับเพาะปลูกเลี้ยงพลเมือง 36 ตำบล แต่ละตำบลให้ปลูกข้าวให้ได้ข้าวเปลือก 5 ชั่ง ส่วนหัวเมืองขึ้นทั้งหมดมีพันนารวมกันถึง 124 ตำบล จึงเป็นเมืองที่สมบูรณ์ ผลิตข้าวเลี้ยงพลเมืองได้มาก
พ่อขุนจอมธรรม เป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพ เป็นที่รักของอาณาประชาราษฎร์ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักเจริญเมือง 7 ประการ จึงมีหัวเมืองน้อยใหญ่เข้ามาสวามิภักดิ์ขออยู่ในพระบรมเดชานุภาพอยู่เสมอ หลักเจริญเมืองที่ท่านใช้ปกครองได้ถ่ายทอดสืบๆ กันมาดังมีเนื้อหาดังนี้
มีเจ้านาย แต่ถ้าไม่มีราษฎรก็จะเป็นเจ้านายด้วยใคร หรือจะเป็นเอาเองก็ได้ แต่ว่าราชการใหญ่น้อยเกิดขึ้นในเมืองท่านจะทำเอาเองตลอดหรือไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อจะลงโทษผู้ใด โทษควรฆ่าก็จงตีเสีย โทษควรตีก็จงด่า โทษควรด่าจงสอนด้วยความดีเป็นขุนหมื่นให้คิดถึงหมื่นชั้น เป็นแสนให้คิดแสนชั้น เป็นท้าวให้มีแสนตา เป็นพระยาให้มีแสนหู ของดีหรือของร้ายให้ฟังเต็มหู ให้ดูเต็มตา ให้พิจารณาเต็มใจ ที่สมควรก็ให้สมควร ไม่สมควรก็ทิ้งเสีย เป็นเจ้านายท้าวพระยาให้มีความเมตตากรุณาต่อราษฎร เพราะเขาเป็นรั้วบ้านกำแพงเมือง ของท้าวพระยา เหตุว่าหมื่นหูแสนตา ครั้นราษฎรมีความเจริญบ้านเมืองก็รุ่งเรืองขึ้น เหตุนั้นเจ้านายท้าวพระยาสมควรที่จะรักใคร่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน และให้สร้างรั้วบ้านกำแพงเมืองเสียให้ดี เวลาเกิดศึกขึ้นจะได้เป็นที่พึ่ง ให้ป่าวประกาศราษฎรทำบุญให้ทาน ทำไร่ไถนา สร้างศาลาและบ่อน้ำไว้ข้างถนนหรือทางน้อยทางใหญ่ ให้คนไปมาได้อาศัย ซึ่งเป็นการทำให้บ้านเมืองเจริญ
ให้ผูกไมตรีกับท้าวพระยาต่างประเทศผู้มีความฉลาดทางคดีโลกคดีธรรม
- เมื่อราษฎรคนใดสร้างความรุ่งเรืองให้แก่ชาติบ้านเมือง เช่นสร้างบ้านใหม่ หรือทำไร่ไถนา ทำสวน ให้ถาวรไปภายหน้าก็อย่าให้ท้าวพระยาได้ถอดถอนมันเลย
- บ่าวของท้าวพระยาไปได้ไพร่เมืองเป็นเมีย มีบุตรชายบุตรหญิงกี่คนก็อย่าเอาบุตรมันเป็นทาส ไม่ควรแล ถึงว่าราษฎรทั้งปวงก็เป็นข้าแผ่นดินของท้าวพระยาทั้งสิ้น หรือบุตรมันไม่มี ตัวมันตายก่อนเมีย ควรแบ่งเอามรดกมันครึ่งหนึ่งแล้วอย่าได้เอาเมียมันเป็นทาส ปล่อยมันเป็นไพร่เมืองเทอญ
- เสนาผู้ใดรู้คดีโลกคดีธรรม ประเพณีธรรม อปริหานิยธรรม และดับความร้อนของราษฎร และตัดสินความตามชอบธรรม ไม่รับสินจ้างสินบน เสนาผู้นี้ดี ครั้นตายแล้วให้เลี้ยงบุตรภรรยาของมันต่อไป คือคนเช่นนี้หาได้ยาก แพทย์หรือโหรทายและผู้ไต่สวนความคน 3 จำพวกนี้เขาตายอย่าสืบแทนเขา ลูกหลานเขามีก็ให้สืบแทนต่อ ๆกันไป หากไม่มีลูกหลานก็ให้เอาเผาไฟไหลน้ำเสีย
ดังกล่าวมานี้เป็นเจริญเมือง คือหลักการทำความเจริญให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง
ส่วนอปริหานิยธรรม 7 ประการมีดังนี้
- เป็นท้าวพระยาและข้าราชการให้มาประชุมพร้อมกันวันละ 3 ครั้ง เพื่อจะได้พิจารณาข่าวสารและเหตุการณ์ที่จะบังเกิดขึ้นในบ้านเมืองของตน
- เมื่อเวลาประชุมก็ให้พร้อมเพรียงกัน เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ให้พร้อมเป็นใจเดียวกัน
- อาญาต่าง ๆ ที่ท้าวพระยาตั้งไว้แต่โบราณมีอย่างใดก็ให้ถืออย่างนั้น อย่าเอาธรรมเนียมใหม่มาตั้งให้ราษฎรเดือดร้อนมิควร
- คนใดเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ รู้ธรรมเนียมโบราณบ้านเมืองแต่เก่าก่อน มีความสัตย์ วาจาเป็นมงคล ควรนับถือเอาผู้นั้นเป็นที่ปรึกษาถ้อยความ
- หญิงใดมีรูปร่างงดงาม เจ้านายเจ้าพระยาชอบใจอยากได้ แต่หญิงนั้นไม่สมัครก็อย่าได้คุมเหงเอาด้วยน้ำใจ ไม่ควรเลย
- ในเขตบ้านแดนเมืองแห่งใดตำบลใดเป็นที่คำนับแห่งท้าวพระยาองค์ใดได้ครองเมืองเป็นเจ้าเป็นใหญ่ก็จงทำตามโบราณประเพณีแต่เก่าก่อน บ้านเมืองจะได้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น
- พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลได้สวดเรียนบำเพ็ญผลตามกิจธุระของสงฆ์ คือคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ท่านอยู่ที่ใดตำบลใด เจ้าผู้ครองเมืองต้องแต่งตั้งให้ผู้ใหญ่ที่อยู่บ้านนั้นตำบลนั้นดูแลรักษาอย่าให้มีอันตรายต่าง ๆ เป็นต้นว่าโจรภัย โรคภัย ให้ท่านได้ทำกิจธุระของสงฆ์ตามสะดวก
ทั้ง 7 นี้คือหลักการที่เจ้านายในสมัยโบราณใช้เป็นหลักปกครองเมืองพะเยา
พ่อขุนจอมธรรมครองเมืองภูกามยาวได้ 3 ปีก็ได้โอรสองค์หนึ่ง ตำนานเมืองหิรัญเงินยางว่า ประสูตรในวันอังคาร เดือน 5 กลางเดือน ยามจะย่ำรุ่ง ปีเถาะ พ.ศ.1602 จ.ศ. 421 ส่วนพงศาวดารโยนกว่า ประสูตรวันอังคารขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ปีเถาะ เวลาใกล้รุ่ง จุลศักราช 461 โหรหลวงทำนายว่าราชกุมารองค์นี้จะมีบุญญาภินิหารปราบชมภูทวีปได้ทั้งปวง พ่อขุนจอมธรรมจึงพระราชทานนามว่า ขุนเจียงหรือขุนเจือง เมื่อขุนเจียงประสูตรครบ 1 เดือน พระบิดาพร้อมด้วยวงศาคณาญาติเมืองหิรัญนครเงินยางได้ทำพิธีมหารหะ คือทำขวัญผูกข้อมือกุมาร ในเวลากลางคืนได้ปรากฏเครื่องทิพย์ 3 ประการคือ พระแสงทิพย์ ตระบองทิพย์ และคนโทหิน เกิดมาเป็นของคู่บารมีของกุมาร
ครั้นต่อมาในปีมะเส็ง จุลศักราช 423 พระนางเทวีของพ่อขุนจอมธรรมได้ประสูตรโอรสอีกองค์หนึ่งทรงนามว่าขุนจอง หรือ ชิง พงศาวดารโยนกว่า ขุนซอง
ขุนเจียงมีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและศิลปศาสตร์หลายแขนง ครั้งหนึ่งไปคล้องช้างทางเมืองน่าน พระยาน่านชื่อพลเทวะยกธิดาสาวชื่อนางจันทาให้เป็นชายา ต่อมาไปคล้องช้างเมืองแพร่ พระยาแพร่ชื่อพรหมวังโสยกธิดาชื่อนางแก้วอิสตรีให้เป็นชายาอีกองค์หนึ่ง
พ.ศ. 1664 พญาลาวชิน พระเชษฐาของ พญาลาวจอมธรรม ทรงขอตัว พญาลาวยี่เจื๋อง (อายุ 19 ปี) โอรสองค์ที่ 2 ของ พญาลาวจอมผาเรือง ไปปกครองเมืองฝาง ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงของ อาณาจักรเงินยาง เนื่องจาก พญาลาวชิน ทรงมีพระธิดา คือ นางโอคาแพงเมือง และ นางงามแฝงจันทร์ผง
เมื่อขุนเจียงกลับเมืองภูกามยาวก็ช่วยบิดาว่าราชการบ้านเมือง จนขุนจอมธรรมทิวงคตขุนเจียงจึงขึ้นครองเมืองภูกามยาว สืบต่อมา
พ.ศ. 1670 พญาลาวน่าน พญาลาวจันทบุรีหลวงพระบาง และ พญาแกวประกัน ยกกองทัพประชิด เมืองเงินยาง เพื่อบังคับให้ พญาลาวชิน มอบพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ให้ ขณะนั้น พญาลาวจอมธรรม สิ้นพระชนม์ไปแล้ว พญาลาวชิน จึงขอความช่วยเหลือไปยัง พญาลาวอ้ายเจื๋อง โอรสองค์แรกของ พญาลาวจอมธรรม ซึ่งได้ปกครอง เมืองพะเยา ต่อจากพระราชบิดา และ พญาลาวยี่เจื๋อง ที่ปกครองเมืองฝาง เหตุการณ์นั้นทำให้ พญาลาวอ้ายเจื๋อง ถูกปลงพระชนม์ในสนามรบ พญาลาวยี่เจื๋อง มาถึงก็พบว่ากองทัพพะเยาเสียให้กับข้าศึกแล้ว จึงรวบรวมทหารโจมตีข้าศึก พญาแกวประกัน และ พระจันทบุรีหลวงพระบาง เสียชีวิตในการรบ สงครามจึงสิ้นสุด พญาลาวชิน จึงอภิเษก นางโอคาแพงเมือง และ นางงามแฝงจันทร์ผง ให้เป็นพระมเหสีซ้าย-ขวา และทำพิธีอภิเษก พญาลาวยี่เจื๋อง เป็นพระยาเจืองฟ้าธรรมิกราช ครองราชสมบัติ ณ เมืองหิรัญนครเงินยาง สืบต่อไป
ขุนเจืองมีราชโอรสกับพระมเหสีทั้งสอง 5 องค์
ที่ประสูตรจาก นางอามแพงจันผง คือ
- ขุนลาวเงินเรือง ต่อมาให้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง
- ขุนลาวเจืองไปครองเมืองแกวหลวง
- ขุนลาวบาวไปครองเมืองจันทบุรี
ส่วนที่ประสูตรจาก นางโอคาแพงเมือง คือ
- ขุนคำร้อย ให้ไปครองเมืองไชยนารายณ์ เมืองมูล
- เจ้าสร้อยเบี้ย ผู้น้องให้เป็นอุปราชครองเมืองเชียงเรือง
ส่วนเมืองพะเยานั้น ขุนเจือง มอบให้ ขุนจอง ผู้น้องครอบครอง เชื้อสายของขุนจองก็ครองสืบๆ กันมาจนถึงพ่อขุนงำเมืองในสมัยเดียวกับ พระเจ้าเม็งราย
ต่อมา ขุนเจือง ได้ทำการแผ่พระบรมราชานุภาพด้วยการยกทัพไปปราบเมืองลานช้างและเมืองแกว เมื่อได้รับชัยชนะจึงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระยาจักราชครองเมืองแกวในปี พ.ศ. 1677 ทรงมีโอรสกับนางอู่แก้ว ธิดาพระยาแกว 3 องค์คือ
- ท้าวอ้ายผาเรือง ต่อมาได้ครองเมืองแกวประกัน
- ท้าวยี่คำหาว ต่อมาได้ครองเมืองลานช้าง
- ท้าวสามชุมแสง ต่อมาได้ครองเมืองนันทบุรี(เมืองน่าน)
พ.ศ. 1720 ขุนเจืองยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองใหญ่น้อยอีกหลายเมือง จนที่สุดได้รบกับพระยาแกวแมนตาทอบ ถูกข้าศึกฟันด้วยของ้าวต้องพระศอขาด สิ้นชีพตักษัยบนคอช้าง เมื่ออายุได้ 77 พรรษา
ทางเมืองภูกามยาวนั้น จอมผาเรือง ราชโอรสของ ขุนเจือง ขึ้นครองราชย์ ได้ 14 ปีก็ทิวงคต ขุนแพง โอรส ขุนจอมเรือง ครองอีก 7 ปี ขุนจอง อนุชาขุนเจือง มาชิงเอาเมืองไปครอง แล้วให้ ขุนแพง ไปครองเมืองหิรัญนคร ขุนแพง มีโอรส 2 องค์ คือ
- ขุนเหิง ได้ครอง เมืองหิรัญนคร แทน ขุนแพง สืบกษัตริย์ต่อๆ กันมาจนถึง พ่อขุนเม็งราย นับเป็นกษัตริย์สายพี่
พ.ศ. 1780 เจ้าชายมังราย โอรสของ พญาลาวเมง และ นางเทพคำข่าย ประสูติ การขึ้นครองราชย์ของพญามังรายเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าอาณาจักรเงินยางที่ดำรงความสงบสุขในเขตมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 621 ปี
- ขุนแก้วแว่นเมือง ครอง เมืองภูกามยาว และมีเชื้อสายสืบมา 12 องค์ก็ถึง พ่อขุนงำเมือง (โอรสพ่อขุนมิ่งเมือง) ได้ขึ้นครอง เมืองภูกามยาว ปี พ.ศ. 1801 เป็นกษัตริย์สายผู้น้อง
พ่อขุนงำเมืองได้ไปศึกษาศิลปศาสตร์อยู่กับฤาษีสุกกทันตะที่เขาสมอคอน เมืองละโว้ เป็นศิษย์ร่วมรุ่นกับพ่อขุนรามคำแหง (พระร่วง) กษัตริย์กรุงสุโขทัย จึงเป็นเพื่อนรักกันมาแต่บัดนั้น จนอายุได้ 16 พรรษา เรียนจบแล้วก็กลับมาช่วยราชการเมืองภูกามยาว ต่อมาจึงได้นำพระร่วงมาเป็นมหามิตรกับพ่อขุนเม็งราย ผู้เป็นเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกัน เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์นั้นมีพระชนมายุได้ 21 พรรษา (วัยเดียวกันกับพ่อขุนเม็งราย) และสวรรคตอายุ 81 ชันษา ปี 1861 พ่อขุนคำแดงราชโอรสจึงขึ้นครองราชย์สืบมา เมื่อสิ้นพ่อขุนคำแดงก็มีพ่อขุนคำรือ ผู้เป็นอนุชาครองเมืองสืบมาได้ 9 กษัตริย์ก็ถึงพระยาเมืองยี่ ในสมัยพระยาเมืองยี่นี้เองที่ได้ทำการสร้างพระเจ้าตนหลวงขึ้นที่วัดศรีโคมคำ เริ่มสร้าง พ.ศ.2204 เสร็จ พ.ศ.2213 แต่พระยาเมืองยี่ถึงแก่ทิวงคตไปก่อนจึงมาเสร็จในสมัยพระยาเมืองตู๋ครองเมือง เป็นสมัยที่พม่าเข้ามาเป็นใหญ่ปกครองล้านนาแล้ว
ต่อมาพะเยาก็มีสภาพเป็นเมืองร้างเช่นเชียงรายและเชียงแสน ซึ่งเกิดจากสงครามระหว่างไทยใต้-ล้านนา-พม่า ในสมัยรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี และรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระเจ้ากาวิละได้ร่วมกับไทยทางกรุงเทพ ฯ รบกับพม่าเพื่อกู้ชาติบ้านเมือง ผู้คนพลเมืองก็ถูกกวาดต้อนไปอยู่ทางลำปาง เชียงใหม่ และลงไปถวายพระเจ้าอยู่หัวทางกรุงเทพ ฯ บ้างดังกล่าวมาแล้วในเรื่องเมืองเชียงรายและเชียงแสน จนมาถึงรัชกาลที่ 3 ของกรุงเทพ ฯ ตรงกับรัชกาลที่ 5 ของเชียงใหม่ยุคใหม่ ได้โปรดให้นายพุทธวงศ์ น้องชายพระยาลำปาง เป็นพระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมืองพะเยา ให้นายมหายศเป็นอุปราช ได้แบ่งเอาราษฎรจากเมืองลำปางไปไว้เมืองพะเยาและเมืองงาว และให้พะเยาและงาวขึ้นตรงต่อเมืองลำปาง ส่วนเชียงรายขึ้นต่อเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบจังหวัด เชียงรายได้เป็นจังหวัดพะเยามีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับเชียงราย และได้ยกฐานะเป็นจังหวัดในกาลต่อมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น