วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

อาณาจักรล้านนา สมัยราชวงศ์มังราย

ราชวงศ์มังราย สถาปนาขึ้นโดยพญามังราย มีอายุอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1804 – 2101 โดยสร้างและสถาปนาอาณาจักรอยู่ในช่วง พ.ศ. 1939 - 1989 โดย พญามังราย รวม แคว้นหริภุญชัย กับ แคว้นโยนก เข้าด้วยกันแล้วสถาปนา เมืองเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของ อาณาจักรล้านนา

พ.ศ. 1802 พญามังราย ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อมีพระชนม์ได้ 20 ปี พระองค์ทรงรวบรวมหัวเมืองน้อย-ใหญ่ทางด้านเหนือมาไว้ในพระราชอำนาจ โดยอ้างสิทธิว่า พระองค์สืบเชื้อสายโดยตรงจากปู่เจ้าลาวจง และพระองค์ได้รับ น้ำมุรธาภิเษก เครื่องราชาภิเษก (ดาบไชย หอกและมีดสรีกัญไชย) ที่เป็นมรดกมาจากปู่เจ้าลาวจง ส่วนเจ้าเมืองอื่ๆ นั้น แม้จะเป็นญาติพี่น้องกันแต่ก็ไม่ใช่สายตรงและจะไม่มีโอกาสผ่าน พิธีมุรธาภิเษก และ ได้รับเครื่องราชาภิเษก เหมือนพระองค์ เมืองใดไม่ยอมรับข้ออ้างนี้พระองค์ก็จะยกทัพไปปราบ เมืองที่เข้ามาอยู่ในอำนาจของพระองค์ช่วงนั้นได้แก่ เมืองมอบ เมืองไร เมืองเชียงคำ เมืองเชียงช้าง

พ.ศ. 1805 พญามังราย สร้าง เมืองเชียงราย เสร็จและย้ายเมืองหลวงจาก นครหิรัญเงินยาง มาที่นี่ พร้อมทั้งตี เมืองเชียงตุง ให้มาอยู่ใต้อำนาจได้ พญามังราย มาพบทำเลของ เมืองเชียงราย ขณะที่พระองค์มาประทับที่ เมืองเต่ารอง เพื่อเตรียมการขยายอำนาจลงทางใต้ มีเหตุบังเอิญว่าช้างมงคลของพญามังราย หลุดไป พญามังราย จึงตามช้างไป จนถึง ยอดจอมทอง ริมแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศดี จึงสร้างพระนครที่นั่นโดยก่อปราการโอบล้อมเอา ดอยจอมทอง ไว้กลางเมือง ขนานนามว่า เชียงราย

พ.ศ. 1808 พญามังราย ได้เสด็จจาก เมืองเชียงราย ไปประทับอยู่ที่ เมืองฝาง (เวียงไชยปราการ) เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะแผ่ขยายอาณาเขตไปทางหริภุญชัย โดยให้ ขุนเครื่อง ราชบุตรองค์ใหญ่มาครอง เมืองเชียงราย
พ.ศ. 1809 พญามังราย ได้ยกทัพไปตีได้ เมืองผาแดง เมืองเชียงจอง แล้วก็กลับประทับที่ เมืองฝาง
พ.ศ. 1815 พญามังราย ได้ยกทัพไปตี เมืองเชิง แล้วกลับมาประทับ เมืองฝาง อีก ขณะนั้น เมืองฝาง มีการติดต่อค้าขายกับ แคว้นหริภุญชัย (ลำพูน) พญามังราย รู้มาว่า เมืองหริภุญไชย เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ จึงอยากได้ไว้ในอำนาจ ทรงให้ อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ใน เมืองหริภุญไชย

พ.ศ. 1816 พญามังราย สร้าง เมืองฝาง

พ.ศ. 1818 พญามังราย ปราบ ขุนเครื่อง ราชบุตรองค์ใหญ่ที่ครอง เมืองเชียงราย อยู่ เนื่องจาก ขุนเครื่อง เชื่อถ้อยคำ ขุนใสเรียง คิดการกบฎ พญามังราย จึงได้ออกอุบายให้ ขุนเครื่อง ไปเฝ้าที่ เมืองฝาง แล้วให้ อ้ายเผียน ซุ่มริมทางดักยิงด้วยหน้าไม้ปืนผา (หน้าไม้อาบยาพิษ) ถูก ขุนเครื่อง ตาย พญามังราย จึงได้กลับมาครองราชสมบัติอยู่ที่ เมืองเชียงราย อีกครั้ง

พ.ศ. 1819 พญามังราย ยกกองทัพไปตี เมืองพะเยา พญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยาเห็นว่าสู้ด้วยกำลังไม่ได้ จึงยกกองทัพออกไปรับปลายแดน ต้อนรับอย่างไมตรี แล้วยกตำบลปากน้ำที่มีประชากร 500 หลังคาเรือนให้แก่ พญามังราย พญามังราย ก็รับปฏิญาณเป็นมิตรกัน ในเวลาต่อมา พญามังราย ได้ยกทัพไปตีเมืองอื่นอีกตามลำดับ คือ
- ยกทัพไปตี เมืองหงสาวดี พระยาหงสาวดีสุทธโสม เจ้าเมือง จึงได้ยก นางปายโคพระธิดา ให้เป็นราชธิดา เพื่อขอเป็นพระราชไมตรี
- ยกกองทัพไปตี เมืองพุกามอังวะ เจ้าเมืองอังวะได้นำเอาเครื่องราชบรรณาการมาถวายต้อนรับขอพระราชไมตรีด้วย ในครั้งนี้ได้นำเอาช่างต่าง ๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างคำ ช่างทอง กลับมาเผยแพร่อีกด้วย พร้อมทั้งได้บำรุงพระพุทธศาสนาโดยได้รับอิทธิพลตามแบบอย่างของอังวะ

พ.ศ. 1830 พญามังราย พญางำเมือง และ พ่อขุนรามคำแหง ทำสัญญามิตรภาพ หลังจากที่ พญามังราย ได้รวบรวมเมืองต่างๆ บริเวณ ต้นแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และ ริมแม่น้ำโขง ให้มาอยู่ในอำนาจของพระองค์ได้สำเร็จในปีนี้ พระองค์จึงได้ทำสัญญากับ พญางำเมือง และ พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งสัญญานี้ทำให้เกิดผลที่ดี 2 ประการ คือ
- ประการที่ 1 ทำให้ พญามังราย มั่นใจว่าการขยายอำนาจลงสู่แม่น้ำปิงเพื่อผนวก แคล้นหริภุญชัย จะไม่ได้รับการขัดขวางจาก พญางำเมือง และ พ่อขุนราม คำแหง
- ประการที่ 2 เป็นสัญญาที่ 3 กษัตริย์จะร่วมมือกันป้องกันภัยอันตรายจาก อาณาจักรมองโกล (ราชวงศ์หยวน ของ จีน) ซึ่งกำลังขยายอำนาจลงมาในภูมิภาคนี้

พ.ศ. 1835 พญามังราย ยึดครอง แคว้นหริภุญชัย ที่ พญายี่บา เป็นกษัตริย์ครองอยู่ได้ หลังจากที่ส่ง อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ใน เมืองหริภุญชัย เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งการยึดครอง อาณาจักรหริภุญชัย นั้นทำให้เมืองต่างๆ ของ อาณาจักรหริภุญชัย ที่อยู่ตอนบนของลุ่มแม่น้ำปิงต้องตกอยู่ในอำนาจของ พญามังราย ไปด้วยทั้งหมด ในเวลาต่อมา พญามังราย ก็ลงไปตี เมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) ซึ่ง พระยาเบิก อนุชาของ พระยายี่บา ครองอยู่ได้อีก พญามังราย ประทับที่ เมืองหริภุญชัย อยู่ 2 ปี ก็พบว่าไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร พญามังราย จึงทรงย้ายมาสร้าง เวียงกุมกาม (เมืองเก่าเชียงใหม่)

พ.ศ. 1839 พญามังราย สร้าง เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก่อนสร้าง พญามังราย ได้เชิญ พญางำเมือง (อาณาจักรพะเยา) และ พ่อขุนรามคำแหง (อาณาจักรสุโขทัย) มาร่วมกันพิจาณาทำเลที่ตั้ง พญาทั้ง 2 ก็เห็นด้วยและช่วยดูแลการสร้าง เมืองเชียงใหม่ ด้วยเหตุที่ พ่อขุนรามคำแหง มาร่วมสร้าง เมืองเชียงใหม่ จึงทำให้ผัง เมืองเชียงใหม่ ได้รับอิทธิพลจาก สุโขทัย เมื่อแรกสร้างกำแพงเมืองมีขนาดกว้าง 900 วา ยาว 1,000 วา ขุดคูน้ำกว้าง 9 วา กำแพงเมืองเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลสมัย ปัจจุบันเปลี่ยนรูปสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 1,600 เมตร พญามังราย ประทับอยู่ที่ เมืองเชียงใหม่ ตราบจนสวรรคต ส่วนที่ เมืองเชียงราย ให้ ขุนคราม ครองเมือง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ เมืองเชียงราย เริ่มลดบทบาทลง และ เมืองเชียงใหม่ เริ่มมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรขึ้นเรื่อยๆ

ในสมัยอาณาจักรเป็นช่วงสร้างความเข้มแข็งอยู่ในสมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น มีกษัตริย์ปกครอง 5 พระองค์ ได้แก่
- พญามังราย
- พญาไชยสงคราม
- พญาแสนพู
- พญาคำฟู
- พญาผายู

พ.ศ. 1860 พญามังราย สวรรคต ในขณะที่เสด็จประพาสกลาง เมืองเชียงใหม่ พญาไชยสงคราม (ขุนคราม) ครองราชย์สืบต่อมา

พ.ศ. 1861 พญาไชยสงคราม (ขุนคราม) ได้เสด็จไปประทับที่ เมืองเชียงราย แล้วให้ พญาแสนภู โอรสครอง เมืองเชียงใหม่

พ.ศ. 1870 พระยาไชยสงคราม ถึงแก่ทิวงคต พระยาแสนภู ได้ให้ เจ้าคำฟู ราชโอรสไปครอง เมืองเชียงใหม่ แล้วพระองค์ได้กลับมาครองราชย์อยู่ที่ เมืองเชียงราย

พ.ศ. 1871 พญาแสนภู มีพระราชประสงค์จะสร้างพระนครอยู่ใหม่ที่ เมืองโบราณของเวียงไชยบุรี เมืองเก่าริมแม่น้ำโขง ใช้ แม่น้ำโขง เป็นคูปราการเมืองด้านตะวันออก อีก 3 ด้าน ให้ขุดโอบล้อมพระนครไว้ ตั้งพิธีฝังหลักเมืองวันศุกร์ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 1871 ขนานนามว่า หิรัญนครชัยบุรีศรีเชียงแสน (ตามพระนามของพระองค์) ต่อมาภายหลังเรียกว่า เชียงแสน (อำเภอเชียงแสน ซึ่งยังมีซากกำแพงเมืองปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน) พระยาแสนภู ครองราชย์ที่ เมืองเชียงแสน ได้ 7 ปี ก็ได้ถึงแก่ทิวงคต ในปี พ.ศ. 1877

พ.ศ. 1877 พญาคำฟู ราชโอรส พญาแสนภู ครองราชย์ที่ เมืองเชียงแสน สืบต่อ โดยได้ให้ พญาผายู ราชโอรสของพระองค์ไปครอง เมืองเชียงใหม่ ในสมัยของ พญาคำฟู กษัตริย์องค์ที่ 4 นี้ ทรงสามารถเข้ายึดครอง อาณาจักรภูกามยาว (พะเยา) ได้สำเร็จ (เมืองพะเยา มีเขตติดต่อกับ เมืองแพร่ เมืองน่าน)

เมื่อ พญาคำฟู  ถึงแก่ทิวงคต พญาผายู ราชโอรส ซึ่งครอง เมืองเชียงใหม่ อยู่ ได้ขึ้นครองราชย์อยู่ที่ เมืองเชียงใหม่ สืบมา แล้วให้ท้าวกือนา (ตื้อนา) ราชโอรส มาครอง เมืองเชียงราย นับแต่นั้นมา เมืองเชียงราย และ เมืองเชียงแสน เริ่มมีฐานะคล้ายเมืองลูกหลวง โดยมี เชียงใหม่ เป็นเมืองหลวง โดยมีเชื้อพระวงศ์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์

พ.ศ. 2020 ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกที่ วัดเจ็ดยอด เมืองเชียงใหม่ ที่มีเหตุมาจากการขัดแย้งกันของพระสงฆ์ระหว่าง นิกายรามัญ ที่เป็นนิกายที่มีอยู่ก่อน กับ นิกายสิงหล หรือ ลังกาวงศ์ ที่เป็นนิกายใหม่ที่มาจากลังกา และมีการเขียนคัมภีร์ทางพุทธศาสนา และงานเขียนตำนานประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งได้แพร่หลายไปสู่ดินแดนใกล้เคียง ล้านช้าง พม่า อยุธยา เช่น
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
- พื้นเมืองน่าน
- ตำนานพระธาตุลำปางหลวง
- ตำนานมูลสาสนา
- จามเทวีวงศ์
- ชินกาลมีปกรณ์ เป็นต้น
มีการสร้างผลงานวรรณกรรมพุทธศาสนาของพระสงฆ์ล้านนา ได้แก่
- พระโพธิรังสี แต่ง จามเทวีวงศ์ และ
- สิหิงคนิทาน รัตนปัญญาเถระ แต่ง ชินกาลมาลีปกรณ์
- พระสิริมังคลาจารย์ แต่งวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น เวสสันดรทีปนี จักรวาลทีปนี สังขยาปกาสกฎีการ และ มังคลัตถทีปนี พระพุทธเจ้า
- พระพุทธพุกาม แต่ง ตำนานมูลสาสนา
มีการสร้างผลงานวรรณกรรม ปัญญาสชาดก (ชากด 50 เรื่อง) ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เข้าใจว่าใน สมัยพญาแก้ว ปัญญาสชาดก เป็นงานวรรณกรรมพุทธศาสนาที่แต่งเลียนแบบชาดกในพระไตรปิฎก แต่มีเนื้อเรื่องไม่เหมือนกัน ปัญญาสชาดก เป็นต้นกำเนิดของวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น
- สมุททโฆสชาดก นำมาแต่งเป็น สมุทรโฆษคำฉันท์
- สุธนชาดก นำมาแต่งเป็น บทละครเรื่องมโนราห์
พ.ศ. 2224 ปัญญาสชาดก จาก อาณาจักรล้านนา แพร่หลายไปถึง พม่า มีการแปลเป็นภาษาพม่าใน สมัยพระเจ้าโพธพระยา พม่าเรียกว่า ซิมแม่ปัณณาสชาดก (เชียงใหม่ปัณณาสชาดก)

พ.ศ. 2068 พญาเกศเชษฐาราช ขึ้นครองราชย์ อาณาจักรล้านนา เริ่มเสื่อมถอย หลังจากนี้ กษัตริย์จะครองราชย์เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพราะกษัตริย์จะถูกขุนนางปลงพระชนม์ ปลดออกจากตำแหน่ง หรือ บีบให้กษัตริย์สละราชย์

พ.ศ. 2091 - 2094 ไม่มีกษัตริย์ปกครองถึง 4 ปี เพราะขุนนางขัดแย้งกันตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นกษัตริย์

พ.ศ. 2101 ตกเป็นเมืองขึ้นของ พม่า ใน สมัยพระเจ้าเมกุฏ ครองราชย์ที่ เมืองเชียงใหม่ และ พญากลม เป็น เจ้าเมืองเชียงแสน ทั้ง 2 เมืองได้เสียให้แก่ บุเรงนอง เจ้ากรุงหงสาวดี อาณาจักรล้านนา จึงได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่นั้นมา โดยสลับกับบางครั้งเป็นอิสระ บางครั้งก็ตกอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา รวมเป็นระยะเวลาถึง 200 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น